ความหมายของการอ่าน
การอ่านเป็นพฤติกรรมการรับสารที่สำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าการฟัง ปัจจุบันมีผู้รู้นักวิชาการและนักเขียนนำเสนอความรู้ ข้อมูล ข่าวสารและงานสร้างสรรค์ ตีพิมพ์ในหนังสือและสิ่งพิมพ์อื่น ๆ มาก นอกจากนี้แล้วข่าวสารสำคัญ ๆ หลังจากนำเสนอด้วยการพูด หรืออ่านให้ฟังผ่านสื่อ
ต่าง ๆ ส่วนใหญ่จะตีพิมพ์รักษาไว้เป็นหลักฐานแก่ผู้อ่านในชั้นหลัง ๆ
ความสามารถในการอ่านจึงสำคัญและจำเป็นยิ่งต่อการเป็นพลเมืองที่มีคุณภาพในสังคมปัจจุบัน จะเห็นได้ว่า องค์การระดับนานาชาติ เช่น องค์การศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (UNESCO) จะใช้ความสามารถในการรู้หนังสือของประชากรประเทศต่าง ๆ เป็นดัชนีวัดระดับการพัฒนาของประเทศนั้น ๆ
มีผู้ให้คำจำกัดความหรือความหมายของการอ่านไว้ต่าง ๆ กัน ดังนี้
มอร์ติเมอร์ เจ แอดเล่อร์ (Mortimer J. Adler) กล่าวว่า การอ่าน หมายถึง กระบวนการตีความหมายหรือสร้างความเข้าใจจากตัวอักษรหรือสัญลักษณ์อื่น ๆ
รูธ ทูซ (Ruth Tooze) ได้กำหนดความหมายของการอ่านไว้โดยสรุปว่า การอ่าน
หมายถึง สิ่งต่อไปนี้
1) การเข้าสู่แหล่งสำหรับการมีชีวิตอยู่และการเรียนรู้ที่สมบูรณ์
2) การก่อให้เกิดความจรรโลงใจและจิตใจที่ดี
3) การอ่านเป็นองค์ประกอบสำคัญที่สุดในด้านศิลปะเกี่ยวกับภาษาศาสตร์ ซึ่งมี 4 ประการ คือ การฟัง การพูด การอ่าน และการเขียน
4) การอ่านเป็นการช่วยส่งเสริมตัวเอง เป็นการปรับปรุงตัวเอง ช่วยให้เด็กเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่สมบูรณ์
5) การอ่านเป็นการส่งเสริมอารมณ์ของแต่ละคนให้สัมพันธ์กับผู้อื่นในโลก เป็นการปรับปรุงตัวเองให้เข้ากับผู้อื่นได้
เบอร์นาร์ด ไอ ชมิดท์ ( Bernard I. Schmidt ) ได้ให้คำจำกัดความไว้ว่า การอ่าน
เป็นกระบวนการที่ซับซ้อนยุ่งยาก ยังมีความหมายที่แน่นอน อาจเรียกได้ว่า เป็นทุกสิ่งทุกอย่างจากคำที่จำได้ไปสู่ความนึกคิดต่าง ๆ การอ่านของแต่ละบุคคลย่อมแตกต่างไปตามสภาพของร่างกายสติปัญญาและอารมณ์ ในการอ่านข้อความเหมือนกัน บุคคลสองคนจะมีความคิดต่างกัน
อัลเฟรด สเตฟเฟอรุด ( Aifred Stefferud ) ได้ให้ความจำกัดความของการอ่านไว้ว่า
การอ่าน เป็นการกระทำทางจิตใจที่ผู้อ่านยอมรับความหมาย จากความคิดเห็นของบุคคลอื่น
พอล ดี ลีดดี ( Paul D. Leedy ) ให้นิยามการอ่านไว้ว่า การอ่าน คือการรวบรวมความ
คิดและตีความตลอดจนประเมินค่าความคิดเหล่านั้นที่ปรากฏอยู่ตามสิ่งพิมพ์แต่ละหน้า
เอดการ์ เดล ( Edgar dale ) ให้ความหมายไว้ว่า การอ่าน หมายถึง กระบวนการ
ค้นหาความหมายจากสิ่งพิมพ์ เป็นการเพิ่มพูนประสบการณ์ของผู้อ่าน การอ่านไม่ได้หมายความเฉพาะการมองผ่านแต่ละประโยคหรือแต่ละย่อหน้าเท่านั้น แต่ผู้อ่านต้องเข้าใจความคิดนั้น ๆ ด้วย
จอร์จ ดี สปาช และ พอล ชี เบอร์ก (George D. Spache and Paul C. Berg )
กล่าวว่า การอ่าน เป็นการผสมผสานระหว่างทักษะหลายชนิด เพื่อสร้างความเข้าใจ โดยเป็นไปตามจุดประสงค์ ตามต้องการ และวิธีการของผู้อ่าน
จากคำจำกัดความดังกล่าวมาแล้ว อาจสรุปและเพิ่มเติมได้ดังนี้
1) การอ่านเป็นกระบวนการค้นหาความหมายในสิ่งที่อ่าน
2) การอ่านเป็นกระบวนการจับใจความจากสิ่งที่อ่าน
3) การอ่านเป็นกระบวนการที่จะเข้าใจภาษาเขียน
4) การอ่านเป็นกระบวนการถอดความจากภาษาเขียนมาเป็นภาษาในความคิด
5) การอ่านเป็นทักษะที่รวมทักษะต่าง ๆ เข้าด้วยกัน ได้แก่ ทักษะในการคิด และ
ทักษะทางไวยากรณ์ คือ ด้าน เสียง ศัพท์ โครงสร้าง และความหมาย
6) การอ่านเป็นกระบวนการค้นหาความหมายในสิ่งพิมพ์หรือข้อเขียน จับใจความ
ตีความ เพื่อพัฒนาตนเองทั้งด้านสติปัญญา อารมณ์ และสังคม
2. ความสำคัญของการอ่าน
ในสมัยโบราณที่ยังไม่มีตัวหนังสือใช้ มนุษย์ได้ใช้วิธีเขียนบันทึกความทรงจำและเรื่องราวต่าง ๆ เป็นรูปภาพไว้ตามฝาผนังในถ้ำ เพื่อเป็นทางออกของอารมณ์ เพื่อเตือนความจำหรือเพื่อบอกเล่าให้ผู้อื่นได้รับรู้ด้วย แสดงถึงความพยายามและความปรารถนาอันแรงกล้าของมนุษย์ ที่จะถ่ายทอดประสบการณ์ของตนเป็นสัญลักษณ์ที่คงทนต่อกาลเวลา
จากภาพเขียนตามผนังถ้ำ ได้วิวัฒนาการมาเป็นภาษาเขียนและหนังสือ ปัจจุบันนี้หนังสือกลายเป็นสิ่งที่สำคัญยิ่งต่อมนุษย์จนอาจกล่าวได้ว่าเป็นปัจจัยอันหนึ่งในการดำรงชีวิตคนที่ไม่รู้หนังสือแม้จะดำรงชีวิตอยู่ได้ก็เป็นชีวิตที่ไม่สมบูรณ์ ไม่มีความเจริญ ไม่สามารถประสบความสำเร็จใด ๆ ในสังคมได้ หนังสือและการอ่านหนังสือจึงมีความสำคัญอย่างยิ่ง
3.จุดประสงค์ของการอ่าน
ในการอ่านบุคคลแต่ละคนจะมีจุดประสงค์ของตนเอง คนที่อ่านข้อความเดียวกันอาจมี
จุดประสงค์หรือความคิดต่างกัน โดยทั่วไปจุดประสงค์ของการอ่านมี 3 ประการ คือ
1) การอ่านเพื่อความรู้
ได้แก่ การอ่านหนังสือประเภทตำรา สารคดี วารสาร หนังสือพิมพ์ และข้อความต่าง ๆ เพื่อให้ทราบเรื่องราวอันเป็นข้อความรู้ หรือเหตุการณ์บ้านเมือง การอ่านเพื่อความรอบรู้เป็นการอ่านที่จำเป็นที่สุดสำหรับครู เพราะความรู้ต่าง ๆ มีการเปลี่ยนแปลงเพิ่มเติมอยู่ทุกขณะ แม้จะได้ศึกษามามากจากสถาบันการศึกษาระดับสูง ก็ยังมีสิ่งที่ยังไม่รู้และต้องค้นคว้าเพิ่มเติมให้ทันต่อความก้าวหน้าของโลกข้อความรู้ต่าง ๆ อาจมิได้ปรากฏชัดเจนในตำรา แต่แทรกอยู่ในหนังสือประเภทต่าง ๆ แม้ในหนังสือประเภทบันเทิงคดีก็จะให้เกร็ดความรู้ควบคู่กับความบันเทิงเสมอ
2) การอ่านเพื่อความคิด
แนวความคิดทางปรัชญา วัฒนธรรม จริยธรรม และความคิดเห็นทั่วไป มักแทรกอยู่ในหนังสือแทบทุกประเภท มิใช่หนังสือประเภทปรัชญา หรือจริยธรรมโดยตรงเท่านั้น การศึกษาแนวคิดของผู้อื่น เป็นแนวทางความคิดของตนเอง และอาจนำมาเป็นแนวปฏิบัติในการดำเนินชีวิตหรือแก้ปัญหาต่าง ๆ ในชีวิต ผู้อ่านจะต้องใช้วิจารณญาณในการเลือกนำความคิดที่ได้อ่านมาใช้ให้เป็นประโยชน์ ในบางเรื่องผู้อ่านอาจเสนอความคิดโดยยกตัวอย่างคนที่มีความคิดผิดพลาด เพื่อเป็นอุทาหรณ์ให้ผู้อ่านได้ความยั้งคิด เช่น เรื่องพระลอ แสดงความรักอันฝืนทำนองคลองธรรมจึงต้องประสบเคราะห์กรรมในที่สุด ผู้อ่านที่ขาดวิจารณญาณมีความคิดเป็นเรื่องจูงใจให้คนทำความผิด
นับว่าขาดประโยชน์ทางความคิดที่ควรได้ไปอย่างน่าเสียดาย การอ่านประเภทนี้จึงต้องอาศัย
การศึกษาและการชี้แนะที่ถูกต้องจากผู้มีประสบการณ์ในการอ่านมากกว่า ครูจึงต้องใช้วิจารณญาณในการอ่านเพื่อความคิดของตนเอง และเพื่อชี้แนะหรือสนับสนุนนักเรียนให้พัฒนาการอ่านประเภทนี้
3) การอ่านเพื่อความบันเทิง
เป็นการอ่านเพื่อฆ่าเวลา เช่น ระหว่างที่คอยบุคคลที่นัดหมาย คอยเวลารถไฟออก เป็นต้น หรืออ่านหนังสือประเภทบันเทิงคดีในเวลาว่าง บางคนที่มีนิสัยรักการอ่าน หากรู้สึกเครียดจากการอ่านหนังสือเพื่อความรู้ อาจอ่านหนังสือประเภทเบาสมองเพื่อการพักผ่อน หนังสือประเภทที่สนองจุดประสงค์ของการอ่านประเภทนี้มีจำนวนมาก เช่น เรื่องสั้น นวนิยาย การ์ตูน วรรณคดีประเทืองอารมณ์ เป็นต้น
จุดประสงค์ในการอ่านทั้ง 3 ประการดังกล่าว อาจรวมอยู่ในการอ่านครั้งเดียวกันก็ได้ โดยไม่จำเป็นต้องแยกจากกันอย่างชัดเจน